‘Andres Segovia’ By BANGKOKBIZNEWS

::: อันเดรส เซโกเวีย ยกระดับกีตาร์คลาสสิก :::

(บทความโดย กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com/)::::

protectedimage



วันนี้ผมเอาประวัติของ Andres Segovia นักกีตาร์คลาสสิคระดับตำนาน ถ่ายทอดผ่านความคิดของ นักคอลัมนิสต์ดนตรี คุณประทักษ์ ใฝ่ศุภการ เดินทางไปเยือนสเปนเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 พร้อมถ่ายทอดความทรงจำที่มีต่อ อันเดรส เซโกเวีย เชิญอ่านกันได้ตามอรรถรสเลยครับ ขอบคุณ กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com/ ที่มาของบทความดีๆนี้อีกครั้งครับ


หลังจากเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศสเปนและโปรตุเกส 2 สัปดาห์ พอกลับถึงกรุงเทพฯวันแรก น้ำก็ท่วมบ้านในซอยวิภาวดี 64 โดนไปเต็มๆ เจอเข้ากับตัวเองจึงรู้ว่ามันสาหัสแค่ไหน พอถึงสนามบินบาร์เซโลนา มีรถมารอรับนำเที่ยวชมสถานที่สำคัญในเมืองบาร์เซโลนา วันรุ่งขึ้น ได้เดินทางไปยังเมืองซาราโกซา ระยะทางห่างจากบาร์เซโลนา 300 กว่ากิโลเมตร พักที่เมืองนี้หนึ่งคืนจึงออกเดินทางต่อไปยังเมืองเซโกเวีย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซาราโกซา 400 กว่ากิโลเมตร


ตามตำนานเมืองมรดกโลกแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยเฮอร์คิวลีส ราว 1076 ปี ก่อนคริสต์กาล เมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำเอเรสมากับแม่น้ำกลามอเรส ไหลมาบรรจบกัน กองทัพโรมันได้เข้ามายึดครองเมืองนี้ ท่อส่งน้ำที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเซโกเวีย อารยชนชาวโรมันสร้างขึ้นระหว่างครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 1 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำอาเซดเบดาในซีเอร์ราเดริโอฟรีโอ ซึ่งอยู่จากตัวเมืองเซโกเวียประมาณ 15 กิโลเมตร ช่วงผ่านเมืองต้องวางท่อส่งน้ำบนสะพานที่รองรับด้วยซุ้มศิลปะแบบโกธิกสูงสองชั้นยาวประมาณ 1 กิโลเมตร


ปราสาท “อากาซาร์” รูปทรงกรวยสามเหลี่ยมที่ตั้งงามสง่าบนยอดเขา นัยว่าเป็นต้นแบบปราสาทในภาพยนตร์การ์ตูนเทพนิยายเรื่อง Cimderella ของวอลต์ดิสนีย์   ได้ชมความงามของเมืองเซโกเวีย ทำให้นึกถึง อันเดรส เซโกเวีย นักกีตาร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งกีตาร์คลาสสิกศตวรรษที่ 20 “ สันนิษฐานว่า บรรพบุรุษน่าจะเป็นคนเมืองนี้ เพราะเห็นอนุสาวรีย์ข้างโบสถ์ซานมาร์ติน มีชื่อจารึก Phillip Segovia


อันเดรส ตอร์เรส เซโกเวีย เกิดที่ลีนาเรส ฮาเอน ในแคว้นอันดาลูเซีย ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1891 สิ้นชีวิตวันที่ 2 มิถุนายน 1987 เริ่มเล่นกีตาร์มาตั้งแต่อายุเพียง 6 ปี กีตาร์ตัวแรกของ เซโกเวียเป็นของนักกีตาร์ ฟลาเมงโก ปาโก เด ลูเซนา   เริ่มแรกเซโกเวียหัดเล่นกีตาร์ฟลาเมงโก ต่อมาเกิดชอบผลงานของ เฟเดริโก มอเรโน ตอร์โรบา จึงเปลี่ยนไปเล่นเพลงศิลป์คลาสสิก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นย้ายไปอยู่กรานาดา

Andres_Segovia


เซโกเวียออกแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกในสเปน ปี 1908 สองสามปีต่อมาแสดงคอนเสิร์ตเป็นอาชีพ ครั้งแรกในกรุงมาดริด บรรเลงเพลงของฟรานซิสโก ตาร์เรกาและผลงานของ โยฮัน เซบัสเตียน บาค โดยเรียบเรียงสำหรับบรรเลงด้วยกีตาร์เอง   แสดงนอกประเทศที่สถาบันดนตรีแห่งกรุงปารีส ปี 1915      จากนั้นออกตระเวนแสดงตามเมืองต่างๆในประเทศแถบอเมริกาใต้  การแสดงที่เมืองมิวนิก เยอรมนี ช่างทำกีตาร์ชาวเยอรมัน เฮอร์มันน์ เฮาเซอร์ ได้มอบกีตาร์ “เฮาร์เซอร์” ให้เซโกเวียใช้เป็นเครื่องดนตรีหลัก


เซโกเวียไปแสดงคอนเสิร์ตที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1928 จากการชักนำของฟริทซ์ ไครสเลอร์ นักไวโอลินชื่อก้อง ซึ่งเล่นกีตาร์ในยามว่าง  เมื่อครั้งที่เซโกเวียไปแสดงที่ ซิมโฟนีฮอล ในเมืองบอสตัน วันที่ 12 มีนาคม 1982 วันนั้นผมต้องเตรียมตัว ใส่สูท สวมรองเท้าหนังแทนชุดประจำวัน เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าสนีกเกอร์ เพื่อเข้าชมคอนเสิร์ต…ก่อนสองทุ่มเล็กน้อย


ผมเข้าไปนั่งอยู่ที่เก้าอี้ประมาณแถวที่ 10 ในซิมโฟนีฮอล หอแสดงดนตรีเก่าแก่กว่าร้อยปีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก พอไฟทั่วบริเวณห้องหรี่ลงจนสลัว คงสว่างเฉพาะบนเวทีเท่านั้น


เซโกเวียโผล่พ้นประตูพร้อมด้วยกีตาร์คู่ชีพ ซึ่งตอนหลังหันมาใช้ “รามีเรซ” โค้งน้อมรับด้วยความยินดีกับเสียงปรบมือจากผู้ชมแล้วย่อตัวลงนั่งลงบนเก้าอี้กลางเวที วางส่วนเว้าของตัวกีตาร์ลงบนตักซ้าย พลางขยับ Footstool (แท่นรองเท้า) ปรับให้อยู่ในระดับพอวางเท้าให้สบาย  พอเสียงปรบมืออันกึกก้องค่อยเงียบหายไป ภายในห้องเงียบกริบจนแทบจะได้ยินเสียงหายใจ

Andrs+Segovia


การบรรเลงเริ่มด้วยผลงานของเฟร์นันโด ซอร์ ติดต่อกัน 3 เพลง Andante in C minor; Allegretto in C major และ Rondo จากนั้นเป็นผลงานขนาดสั้นของฟรานซิสโก ตาร์เรกา ติดต่อกัน 8 เพลง ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่นักฟังเพลงกีตาร์คลาสสิกรู้จักกันดี เช่น Adelita; Lagrima; Maria; Marieta…


หยุดพักสั้นๆ ประมาณ 5 นาที ผู้ชมขยับตัวนิดหน่อย ใครจะไอจะจามหรือจะกระซิบกับใครต้องรีบฉวยโอกาสตอนนี้   สำหรับผู้ชมประมาณร้อยคนที่นั่งเรียงหน้ากระดานหันหน้าเข้าหาผู้แสดง ยังคงนั่งประจำที่อยู่บนเวทีไม่ได้ลุกไปไหน


ช่วงที่สองเป็นผลงานของ เจ.เอส.บาค ทั้งหมด ได้แก่ Prelule; Fuga; Gavota ต่อด้วย Sonata ของโดเมนิโก สการ์ลัดตี นักประพันธ์เพลงยิ่งใหญ่ชาวอิตาลี และ Menuet ของชูเบิร์ท เป็นอันจบช่วงนี้


หยุดพักยาว 15 นาที ใครใคร่ดื่ม ดื่ม ใครใคร่คุย คุย ตามอัธยาศัย


ช่วงที่สามประเดิมด้วย Beceuese d’Orient และ Mazurka ผลงานของ อเล็คซันเดอร์ ทันสมัน นักประพันธ์เพลงชาวโปแลนด์ ผู้เคยประพันธ์บทเพลง Cavatina ให้เซโกเวียเล่นจนได้รางวัลชนะเลิศ ต่อด้วย Prelude ที่มีชื่อเสียงของวิลลา โลโบส 2 เพลงติดต่อกัน คือ “เพรลูด” หมายเลข 5 และหมายเลข 2 ปิดรายการแสดงด้วย Sonata Castellana ท่อนที่ 3 ของตอร์โรบา เป็นอันจบการแสดงแสนประทับใจของเซโกเวีย

Andrés-Segovia-Gold-Collection


การแสดงครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเซโกเวียยังเล่นได้ดี สุ้มเสียงกีตาร์ยังเฉียบขาด ชัดเจน ความเร็วและพลังอาจลดลงบ้าง แต่ไม่ถึงกับอืดอาด ยังจัดอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม ความจำยังดีมาก ไม่ได้เสื่อมลงตามคำเล่าลือ


จริงอยู่แม้การเดินเหินจะไม่ค่อยคล่อง เดินไม่ตรงนัก นั่นเป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร แต่ในด้านคุณภาพดนตรีที่เปล่งจากกีตาร์ที่ปราศจากไมโครโฟน ปราศจากการปรุงแต่งของเครื่องขยายเสียง ให้คุณค่าทางดนตรีอย่างมหาศาล


เซโกเวียเป็นนักกีตาร์ฝีมือเยี่ยมแล้ว ยังเป็นครูชั้นยอด ถ่ายทอดเทคนิคการเล่นกีตาร์ที่เขาคิดค้นขึ้นเช่นการดีดด้วยปลายนิ้วผสมกับปลายเล็บ การตีความบทเพลง เซโกเวีย เป็นนักเรียบเรียงดนตรีสำหรับบรรเลงด้วยกีตาร์ โดยนำผลงานที่ประพันธ์เพื่อบรรเลงด้วยเปียโน ลูต ไวโอลิน เชลโล… มาเรียบเรียงใหม่ให้บรรเลงด้วยกีตาร์ได้ ซึ่งเป็นงานค่อนข้างยาก เพราะกีตาร์มีความเป็นอัตลักษณ์ ต้องใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์และความอุตสาหะ

Segovia-Andres-06


แบบฝึกหัดกีตาร์บางบทของเซโกเวีย เช่น Diatonic Major and Minor Scales, Etude 20 บทของ ซอร์…ยังคงถือเป็นคัมภีร์สำหรับนักกีตาร์คลาสสิกทุกยุคทุกสมัย


เซโกเวียผู้ช่วยยกระดับให้กีตาร์มีบทบาทเทียบเคียง เครื่องดนตรีที่ใช้เดี่ยวและเล่นกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีจนเป็นที่ยอมรับของวงการดนตรีคลาสสิกอย่างกว้างขวาง


อันเดรส เซโกเวีย ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย ได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยนับสิบแห่ง… ยิ่งใหญ่ที่สุด คือได้รับราชอิสริยยศ “มาร์กิสแห่งซาโลเบญา จากกษัตริย์ ฮวน คาร์ลอส ที่ 1 ประเทศสเปน”


a0114679_49a7edeb3020c
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/movie-music/อันเดรส-เซโกเวีย-ยกระดับกีตาร์คลาสสิก.html

Comments are closed.